วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมาธิกับการนวด

สมาธิกับการนวดไทย
คุณค่าของสมาธิ
มนุษย์ประกอบด้วยส่วนที่เป็นร่างกาย และจิตใจ ทั้ง 2 ส่วนนี้ไม่แยกจากกัน โดยเด็ดขาด แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน โดยจิตใจสามารถ ทำให้ส่วนรูปกายวิปริตแปรปรวน จนเกิดพยาธิสภาพขึ้นได้ เป็นต้นว่า ถ้าจิตใจว้าวุ่น เป็นกังวล ระบบของร่างกายที่มีจุดอ่อน ก็จะเริ่มผิดปกติ เช่น ความกังวล ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยตามปกติ เสียด แสบในท้อง จนผลในที่สุด ก็เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออก หรือกระเพาะทะลุได้ บางคนจุดอ่อนอยู่ที่ระบบหายใจ ก็จะเกิดอาการหอบหืด หายใจไม่ออก เป็นต้น ถ้าไม่เข้าใจถึงสาเหตุว่า จิตใจก็คือตัวสำคัญ ของการแปรปรวน เราก็ตามรักษาอยู่แต่ปลายเหตุ และไม่สัมฤทธิผล การจะดูแลจิตใจให้สงบ เป็นปกติต่อเนื่องกัน โดยสม่ำเสมอ วิธีหนึ่งก็คือ การทำสมาธิ
สมาธิ หมายถึง การมีจิตกำหนดแน่วแน่ อยู่ในอารมณ์อันเดียว คือ มีจิตตั้งมั่นจดจ่อ ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่าน  
เมื่อใจรวมเป็นสมาธิ ความซัดส่ายปลิวไป กับสิ่งกระทบย่อมหมดไป 
ใจเป็นอิสระจากนิวรณ์ หรือสิ่งที่กั้นขวางจิตใจ ไม่ให้บรรลุความดี

เมื่อสุขภาพใจเป็นปกติ มีสมาธิหล่อเลี้ยง สุขภาพก็พลอยคลี่คลายตามไปด้วย 
ขณะใจสงบเป็นสมาธิ ร่างกายสามารถพักได้มากกว่าหลับ 
ประหยัดพลังงานในการกรองธาตุ เพื่อทรงความมีชีวิตได้ 
เพราะขณะหลับ ร่างกายต้องหายใจผ่านปอด 
แต่ขณะใจเป็นอัปปนาสมาธิ ร่างกายไม่หายใจ และอยู่ได้จากอากาศ ที่ถ่ายเทผ่านผิวหนัง
สภาวะเช่นนี้ เอื้อโอกาสต่อการซ่อมแซมส่วนสึกหรอ และฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยไข้ เกิดเป็นนิยามของ "ธรรมโอสถ" จากหนังสือที่เล่าถึงพระธุดงค์กรรมฐาน แถบอีสานที่เจ็บไข้ได้ป่วย ขณะธุดงค์อยู่ในป่า และขาดแคลนยา ท่านจะใช้วิธีทำสมาธิ ให้ใจลงรวม และเมื่อใจถอนจากสมาธิ โรคที่กำลังเป็นอยู่ก็หายไป เช่น เรื่องของหลวงปู่ฝั้น ที่เป็นไข้จับสั่น และเมื่อท่านหายจากโรคในครั้งนั้นแล้ว ท่านไม่เป็นไข้จับสั่นอีกเลย แม้หมู่พวกที่ไปด้วยกัน จะเป็นหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ตาม

ในสภาวะทั่วไป แม้นนักกีฬา ก็ทำให้อัตราของหัวใจช้าได้เพียง 50-60 ครั้ง/นาที แต่ขณะที่ใจ ลงรวมเป็นสมาธิ อัตราการเต้นของหัวใจอาจช้าได้ถึง 30 ครั้ง/นาที ทำให้การสึกหรอ ของร่างกายลดน้อยลง โอกาสที่อายุจะยืนยาว มากกว่าปกติก็เพิ่มขึ้น ความเสื่อมของรูปกาย หรือที่เราเรียกว่าความแก่ ก็จะปรากฎช้าลง ทำให้สุขภาพกายดีตามสุขภาพใจไปด้วย

 ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ
  • การพัก การสงบใจ เพื่อให้เกิดพลัง เมื่อใจสงบเป็นสมาธิ ใจก็จะเย็นจะสบายขึ้น ใจของเรา หากปล่อยให้ให้ไหลไปกับอารมณ์ ไปในอดีต ไปในอนาคต โดยไม่มีเป้าหมายนั้น เมื่อเวลามีปัญหาอะไรขึ้น เราต้องการคิดให้เป็นเหตุเป็นผล มันก็จะไม่มีแรงจะคิดแล้ว แต่ถ้าเราทำสมาธิให้ใจได้พักอย่างนี้ เมื่อมีปัญหา หรือมีงานที่ต้องการจะทำ พร้อมที่จะทำงานได้ ด้วยประสิทธิภาพที่สูง
  • มีสติสัมปชัญญะ เมื่อเรามีกำลังแล้ว เราฝึกสติ ฝึกสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา 2 สิ่งนี้จะคมขึ้น จะอยู่กับจิตของเรามากขึ้น เมื่อสติคมขึ้น อะไรจะเกิดขึ้น เราจะมองเข้าข้างในก่อน สำรวจดูว่า มีอะไรที่เราจะแก้ไขตัวเองได้ ที่เราจะทำให้ปัญหา ที่เป็นข้อขัดข้อง คลี่คลายออกไป หรือมีทางออก ที่ละมุนละไมดีที่สุด สำหรับสภาวะนั้นๆ
  • ปัญญา ปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และแนะสอนใจให้เราค่อยๆ แลเห็นว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ กันแน่ และเริ่มต้นอยู่ได้ ด้วยความพอใจ ในความมี ความเป็นของเรา เมื่อเราเอาปัญญา แนะสอนตัวของเรา บ่อยครั้งเข้า ความหวั่นไหว ความสับสน ความไม่แน่ใจก็จะค่อยๆ คลายลงไป เราจะมีหลักของเรา เราเริ่มมองเห็นว่า บางครั้งใจของเราไม่ได้ต้องการอย่างนั้นจริงๆ แต่มันเกิดจากความอยาก ความโลภ ซึ่งเป็นของเกินพอ เกินความจำเป็น
  • เพื่อแก้ไขขัดเกลาสันดานของตน ให้เป็นคนประณีตขึ้น เป็นคนจิตใจสะอาด ผ่องใสขึ้น เมื่อเรากำหนดสติเพ่งมองเข้าไปในใจของเรา เราแลเห็นว่าเรามีข้อบกพร่อง


    การใช้สมาธิกับการนวดไทย
     
    การฝึกปฏิบัติการนวดไทย มีการเชื่อมโยง กับการสร้างสมาธิ ตามพระพุทธศาสนา อาศัยศีล เป็นการสร้างพื้นฐานจิตใจให้มั่นคง และการสมาธิภาวนา ช่วยให้จิตนิ่ง สามารถนวดได้อย่างมีประสิทธิผล การฝึกปฏิบัตินวด หลายสำนักใช้สมาธิ ประกอบการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลโดยตรง กับหมอนวดและผู้ถูกนวดในด้านการรักษา
    จากการสัมภาษณ์ความคิดเห็น ของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการนวดหลายท่าน เกี่ยวกับประเด็น ของการใช้สมาธิกับการนวดไทย สรุปได้ดังนี้
    อาจารย์สอนนวด ประจำโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัยฯ
    การนวด ต้องอาศัยการวางนิ้วมือลงไป ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อการไหลเวียนโลหิต เป็นศิลปะของการรักษา ให้ความสมดุลของร่างกาย ซึ่งอยู่ในสภาพไม่ปกติ กลับสู่สภาพปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับ
    • สภาพร่างกายของผู้ป่วย ที่จะมาพบหมอ ว่ามีความเย็น ร้อน อ่อนแข็ง สภาพเช่นไร สามารถแก้ไข ให้คืนสู่สภาพปกติได้เท่าไร เนื่องจากอิริยาบถทั้ง 4 ของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ ในปัจจุบันต้องทน ต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่เป็นไปในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น สารต่างๆ ที่เกิดจากการปรับสภาพ บางทีเราไม่อาจทราบได้ หรือรู้เท่าความเป็นไป ทางด้านวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นจะต้องหาวิธีแก้ ด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสมดุล
    • ความสมดุลภายใน หมอนวดต้องวางจิตให้เป็นกลาง สภาพเหตุใด ที่เกิดขึ้นเรื่องร่างกาย อารมณ์ และจิต สิ่งทีเกิดขึ้น ควรจะมองในแง่บวกมากกว่าลบ เพื่อให้สภาพของร่างกาย ของหมอมีพลัง ที่สามารถนำไปใช้ในการบำบัด หรือรักษา แก้ไขเหตุการณ์กับสภาพต่างๆ ที่หมอพบเห็น และได้เรียนรู้ สิ่งนี้จะทำให้หมอนวด มีประสิทธิภาพ ในด้านการทำงาน ทางด้านการแพทย์ และอื่นๆ ที่ตามมา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    หลักการฝึกสมาธิ เพื่อใช้นวดยึดหลักสำคัญ คือ "มืออยู่ทีไหน ใจอยู่ที่นั่น" ทำได้โดยการฝึกนิ้ว และฝึกใจ สำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มเรียน จนกระทั่งจบ ว่าทำอะไรบ้าง หมั่นทบทวน เพื่อให้เกิดความชำนาญ เมื่อฝึกนานเข้า ความชำนาญจะเกิดขึ้น แล้วจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ฉะนั้น การปฏิบัติการของหมอนวด ควรปฏิบัติ และทบทวนเป็นประจำ สังเกตความเย็น ร้อน อ่อนแข็ง เพื่อเป็นฐานแห่งการเปรียบเทียบ จะทำให้หมอมีความรู้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดไป
    นอกจากนี้ การกำหนดลมหายใจเข้า ขณะที่วางนิ้วมือลงบนตัวผู้นวด และหายใจออก ขณะที่กดนิ้วมือลงไป หมอนวดจะรู้สติอยู่ตลอดเวลา นวดแล้วไม่เหนื่อย และไม่เบื่อหน่ายกับการนวด หลักการสำคัญ คือ เอาจิตมาจับกับอิริยาบถเคลื่อนไหว

    ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดปากเกร็ด
    การสำรวจจิตให้เป็นสมาธิ เป็นมารยาท ในขณะทำการนวด ของหมอนวดตาบอดทุกคน ทางศูนย์ฯ สอนให้หมอนวดฝึกสมาธิ ระลึกคุณครู อาจารย์ ผู้ป่วย แล้วซักถามอาการ ตรวจวินิจฉัย แล้วจึงทำการนวด ตามแบบแผน
    ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดปากเกร็ด มีวิธีการฝึกสมาธิควบคู่ไปกับการเรียนนวด ในระยะเวลา 1 ปีแรก ฝึก 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจัดการสอนโดยนักจิตวิทยา หลักการฝึกสมาธิของศูนย์ฯ จะฝึกให้หมอนวดทอเสื่อ โดยเริ่มตั้งแต่การทอแบบง่ายๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มความยากขึ้น เป็นลายถักทอ ในขั้นตอนการฝึกนั้น ครูไม่แจ้งวัตถุประสงค์การสอน ให้หมอนวดทราบ แต่ให้ฝึกทอเสื่อเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อน แล้วจึงแจ้งให้ทราบว่า ฝึกเพื่อช่วยทำให้เกิดสมาธิ มีความจำ และฝึกนิ้วมือสู่การสัมผัส เมื่อหมอนวดทราบแล้ว ครูจะเริ่มฝึกแบบฝึกหัดที่ยากขึ้น และประเมินดูการพัฒนาเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังให้หมอนวดฝึกนั่งสมาธิทุกเสาร์ วันละ 1 ชั่วโมงอีกด้วย

    นายกสมาคมเภสัช และอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย (วัดสามพระยา)
    การทำงาน คือ การมีสมาธิในการเคลื่อนไหว การนวดต้องอาศัยสมาธิ หมอนวดทุกคน เมื่อทำการนวด ต้องยกมือไหว้ครู ตั้งสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ มือจะสั่น กดได้ไม่ลึกลงถึงจุดที่ต้องการกด การมีสมาธิ ทำให้รับรู้ถึงความแข็ง นิ่ม อ่อน ร้อน เย็น หมอนวดต้องเอาจิตมาจับกับอิริยาบถเคลื่อนไหว นอกจากนี้ มีการกำหนดลมหายใจเข้า ขณะที่วางนิ้วมือ ลงบนตัวผู้นวด และหายใจออก ขณะที่กดนิ้วมือลงไป หมอนวดจะรู้สติอยู่ตลอดเวลา นวดแล้วไม่เหนื่อย และไม่เบื่อหน่ายกับการนวด หลักการสำคัญ คือ เอาจิตมาจับกับอิริยาบถเคลื่อนไหว

    บทความ จาก สถาบันแพทย์แผนไทย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น